เสียงธรรมจากห้อง“เมตตาภิรมย์กรรมฐาน”
วันอาทิตย์ที่ 4 มิถุนายน 2566
เรื่อง การเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างภาพ แสงสว่างและอารมณ์จิตให้เกิดผลในการปฏิบัติ
โดยอาจารย์คณานันท์ ทวีโภค
กำหนดสติอยู่ในความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ผ่อนคลายร่างกายกล้ามเนื้อทุกส่วนพร้อมกับความรู้สึกปลดปล่อยความเกาะ ความยึด ความห่วงใย ในร่างกายทั้งหมดออกไป จนรู้สึกสัมผัสได้ว่าเราปล่อยวางทั้งกายและจิตอย่างแท้จริง เหลืออยู่แต่เพียงสติที่มากำหนดรู้ในลมหายใจ ยิ่งปล่อยวางกายได้มากเท่าไหร่ ลมหายใจยิ่งเบายิ่งละเอียด ความสัมพันธ์เชื่อมโยงต่อเนื่อง ยิ่งลมหายใจละเอียด อารมณ์จิตเรายิ่งเข้าสู่สมาธิที่ลึกขึ้น ละเอียดขึ้น สูงขึ้น หรือพูดง่ายๆว่า ยิ่งลมละเอียดมากเท่าไหร่ ยิ่งเข้าถึงสมาธิในระดับฌานที่สูงขึ้นตามไปด้วย อยู่กับลมหายใจเบาลมหายใจสบาย
สติกำหนดรู้ทั้งลมและอารมณ์ใจ คือ เวทนานุปัสสนามหาสติปัฏฐาน
ความสบายความปลอดโปร่งของอารมณ์ใจ ยิ่งเป็นเหตุที่ทำให้เราใกล้เข้าสู่สมาธิ เข้าสู่ฌานที่สูงขึ้น
อารมณ์ใจเรายิ่งเบาสบาย ยิ่งนำพาให้จิตเราเข้าถึงความผ่องใสที่สูงขึ้น ละเอียดขึ้น หรือที่เรียกว่า จิตตานุปัสสนามหาสติปัฏฐาน ลมหายใจสัมพันธ์ในความรู้ในกายานุปัสสนามหาสติปัฏฐานคือรู้ลม
เมื่อรู้ลมทำให้รู้อารมณ์ใจคือความเบาสบาย คือเวทนามหาสติปัฏฐาน
เมื่ออารมณ์ใจเราสบาย เรารู้สัมผัสได้ว่าจิตเราผ่องใสขึ้น คือจิตตานุปัสสนามหาสติปัฏฐาน
ธรรมปัญญาเครื่องรู้ปรากฏขึ้นว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่จิตเราเข้าถึงความสงบ จิตเราสงบระงับจากนิวรณ์ห้าประการความฟุ้งซ่านความวุ่นวายใจทั้งหลาย ความคิดที่ปรุงแต่งไปในเรื่องของกามฉันทะ จิตของเราเข้าถึงความสงบในฌานมากเท่าไหร่ จิตของเรายิ่งสงบสงัดจากความโลภโกรธหลงมากขึ้นเพียงนั้น เข้าถึงอุเบกขารมณ์ความวางเฉยต่อสิ่งที่มากระทบทางอายตนะมากเพียงนั้น
กำหนดรู้อยู่กับลมหายใจสบาย ทรงอารมณ์ ปัญญาเราพิจารณารู้เห็น เข้าใจผลความเชื่อมโยงของการปฏิบัติ เห็นประโยชน์แห่งความสงบของจิต เห็นความสุขจากความสงบของใจ อยู่กับลมสงบลมสบาย กำหนดรู้ในสุขแห่งสมาธิ จดจ่ออยู่กับความสงบความผ่องใจ
ทรงฌาน คือ ความสงบ หรืออารมณ์สมาธิให้มีความตั้งมั่นไว้
เมื่อจิตสงบจนลมหายใจเราสงบระงับลง จิตนิ่งหยุดเป็นเอกัตคตารมณ์ เราเดินจิตของเราต่อไป เข้าสู่การทรงอารมณ์ในกสิณจิต ในตัวหยุดตัวนิ่ง เรากำหนด ณ จุดที่เห็น สัมผัสลมที่ดับที่นิ่งที่หยุดนั้น มากำหนดรู้ นึกภาพเป็นดวงแก้วกสิณ ยิ่งเรามีความคล่องตัวแล้วก็พยายามฝึกให้เห็นจิตของเราเป็นเพชรประกายพรึก มีแสงรัศมีแผ่สว่าง อารมณ์จิตที่นึกภาพ เห็นภาพจิตของตนเป็นเพชรประกายพรึกนั้น นั่นคือเราเจริญจิตอยู่ในกสิณ ที่เรียกว่า”ปฏิภาคนิมิต”ซึ่งนับว่าเป็นฌานสี่แห่งกสิณ
ในขณะเดียวกันเวลาที่เราทรงภาพกสิณจิตเป็นเพชรประกายพรึก เราทำความรู้สึกสัมพันธ์เชื่อมโยงกันระหว่างภาพนิมิตของกสิณ แสงสว่างของกสิณ เชื่อมโยงกับอารมณ์จิต ยิ่งจิตของเรานึกภาพให้กลายเป็นเพชรได้มากเท่าไหร่ สว่างได้มากเท่าไหร่ ใจเราต้องน้อมในอารมณ์ของกรรมฐาน คือรู้สึกว่าจิตเราเข้าถึงความสุขอย่างยิ่ง ใจเราเอิบอิ่มเป็นสุขจากการที่รู้สึกได้ว่าจิตของเราเป็นเพชรประกายพรึกนั้น ยิ่งสว่างเท่าไหร่ ยิ่งใสเท่าไหร่ ยิ่งเป็นประกายรุ้งแผ่ออกไปมากเท่าไหร่ ภายในจิตเรายิ่งยิ้ม ยิ่งเอิบอิ่ม ยิ่งมีกำลังแห่งความผ่องใส ยิ่งเข้าถึงกำลังแห่งความเป็นทิพย์ของจิต
ดังนั้นเวลาที่เรากำหนดในภาพกสิณ จะเป็นภาพพระ คือพุทธานุสติควบกับอาโลกกสิณก็ดี การกำหนดภาพให้เห็นจิตของเราเป็นกสิณจิตคือเป็นเพชรประกายพรึก คือดึงให้จิตเราเข้าถึงฌาน เข้าถึงกำลังของความเป็นทิพย์เต็มกำลังก่อนก็ดี เรานึกภาพอย่างเดียวแห้งๆไม่ได้ ถ้าจะให้เกิดผลลัพธ์แห่งการปฏิบัติที่สูงที่สุดเกิดผลเร็วที่สุด ความสัมพันธ์ระหว่างภาพ แสงสว่าง อารมณ์จิตอันเป็นสุข อารมณ์จิตอันรู้สึกสัมผัสได้ถึงความเป็นทิพย์ จุดนี้คือจุดที่จะต้องทำประสานสอดคล้องไปพร้อมกัน ขาดตกสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ได้ ขาดไปก็ทำให้ล่าช้า กว่าจะเกิดผลแห่งการปฏิบัติก็ช้าไป
แต่ถ้าเราเข้าใจความสัมพันธ์ทั้งหมดแต่แรก การปฏิบัติจนเข้าถึงความเป็นทิพย์ของจิตก็ดี อภิญญาสมาบัติก็ดี หรือแม้แต่การปฏิบัติเพื่อมรรคผลพระนิพพาน เพื่อความเป็นพระอริยะเจ้าก็ดี ก็จะมีผลรวดเร็วกว่าการที่เราเชื่อมโยงความสัมพันธ์แห่งการปฏิบัติได้อย่างไม่ครบถ้วน
ดังนั้นกำหนดจิตทำให้เต็มที่ทำให้เต็มกำลัง เห็นจิตเป็นประกายพรึกสว่างเป็นเพชรระยิบระยับ กระแสแสงสว่างที่แผ่ออกไปจากดวงจิตส่งผลกับกายเนื้อ ส่งผลจนเกิดแสงสว่างเป็นประกายรุ้งเจ็ดสี แผ่สว่างกระจาย แผ่ปกไปจนคลุมห้องสถานที่ที่เราฝึกที่เราเจริญกรรมฐาน ทำความรู้สึกทรงอารมณ์จนรู้สึกว่าจิตเราสว่างอย่างยิ่ง เป็นสุขอย่างยิ่ง เอิบอิ่มปิติใจอย่างยิ่ง ทรงอารมณ์ไว้ กำหนดให้เกิดธรรมฉันทะยินดีในการปฏิบัติ ธรรมฉันทะยินดีในการทรงอารมณ์ ยิ่งจิตเข้าถึงความเป็นสุขความเป็นทิพย์มากเท่าไหร่ ธรรมฉันทะจะเกิดขึ้นจากความสุขแห่งการปฏิบัติ เอิบอิ่ม ผ่องใส สว่าง กำลังแห่งบุญใหญ่ในวันพระแห่งวิสาขบูชาที่ผ่านมามีกำลังมีผล ยิ่งเราขยันปฏิบัติในช่วงนี้ยิ่งเกิดผล ทรงกำลังความเป็นทิพย์สว่างเต็มกำลัง เมื่อจิตเราเข้าถึงฌานสี่ในกสิณเต็มกำลังแล้ว เรายกกำลังแห่งสมาบัติเพิ่มต่อไป ว่าจิตของเราสว่าง สลายล้างสภาวะภายนอกทั้งหมด ห้องหับสภาวะของห้องหายไปจนหมด ร่างกายที่เป็นกายเนื้อหายออกไปจนหมด
โลกจักรวาลหายไปหมด กลายเป็นความว่างเวิ้งว้าง เหลือเพียงจิตของเราสว่างพร่างพรายเป็นประกายพรึก สว่างอยู่ท่ามกลางความขาว ว่าง เวิ้งว้าง อันไม่มีประมาณ เจิดจ้าอย่างยิ่ง
กำหนดรู้ว่าเรากำลังทรงในสมาบัติที่เรียกว่า “อรูปสมาบัติ”
กำหนดความผ่องใสของจิตปรากฏอยู่ท่ามกลางความเวิ้งว้างว่างเปล่า ขาว โล่ง ไร้รูป ไร้วัตถุ ดวงดาว จักรวาล อนันตจักรวาล สลายไปกลายเป็นความว่างอันไม่มีประมาณ จิตสงบสงัด เกิดจิตวิเวกอย่างสมบูรณ์ ความผ่องใสของจิตสว่างพร่างพราย กำหนดรู้ พิจารณารู้อารมณ์จิตว่าอารมณ์จิตยิ่งละเอียดขึ้น สุขขึ้น ปราณีตขึ้น เมื่อไร้ภาพแห่งวัตถุ ความห่วงความกังวลในวัตถุ ในกายในบุคคลอื่น ในกายที่เป็นขันธ์ห้าของเรา รูปวัตถุเป็นเหตุแห่งความทุกข์ ความห่วง ความกังวล ความรำคาญ หรือความยึดมั่นถือมั่นทั้งปวง สลายล้าง กลายเป็นความว่าง เหลือเพียงจิตสว่างพร่างพราย จิตวิเวกความสงบสงัด กำลังจิตแห่งอรูปสมาบัติปรากฏขึ้น ทรงอารมณ์เพาะบ่มกำลังแห่งอรูปสมาบัติให้เกิดกำลังสะสมในจิต เป็นพื้น เป็นกำลัง หนุนส่งสู่วิปัสสนาญาณ
จากนั้นกำหนดจิตต่อไป พิจารณาว่าอาศัยกำลังแห่งอรูปสมาบัติในอารมณ์พิจารณา ว่ารูปทั้งหลาย วัตถุทั้งหลาย กายนี้วัตถุธาตุ โลก จักรวาล ล้วนแต่เป็นเหตุที่ทำให้เกิดความทุกข์ สิ่งที่มากระทบทางอายตนะทั้งหลายก็ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความทุกข์
เรากำหนดจิตพิจารณาสลายสิ่งที่มากระทบทางอายตนะคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป เสียง กลิ่น รสสัมผัส หรือแม้แต่อารมณ์ที่มากระทบจิต สลายกลายเป็นความว่างไปจนหมด อารมณ์จิตที่เพิกทั้งสิ่งที่มากระทบอายตนะก็ดี เพิกรูปวัตถุคือขันธ์ห้าก็ดี อันที่จริงในอารมณ์พิจารณาในอรูปนี้ถือว่าเป็นวิปัสสนาญาณได้เช่นกัน เพียงแต่อารมณ์ของวิปัสสนาญาณในอรูปนั้นต้องพิจารณาต่อขึ้นไปถึงว่าแต่อรูปก็ยังไม่ใช่ที่สุดแห่งทุกข์
เป้าหมายที่เราปรารถนาก็คือพระนิพพาน ดังนั้นการไปติดอยู่ในอรูปหรือไปเสวยผลบุญอยู่กับอรูปพรหมยังไม่ใช่เป้าหมายของเรา เราอาศัยกำลังเห็นอรูปสมาบัติซึ่งถือว่าเป็นฌานสมาธิของสมถะที่มีกำลังสูงสุด เป็นพลังงานในการขับเคลื่อนจิตยกจิตเราเข้าถึงซึ่งพระนิพพาน ซึ่งผลก็จะก่อให้เกิดกำลังอานิสงส์แห่งการได้ปฏิสัมภิทาญาณคือองค์ความรู้อันยิ่งยวดในวิสัยแห่งสาวกภูมิ กำลังจิตของเรามีปัญญาความเข้าใจ ไม่หลงไม่ติดในอรูป เมื่อพิจารณาแล้วก็กำหนดจิต รำลึกนึกถึงพระพุทธเจ้า เราเพิกรูปคือขันธ์ห้าออกไป เพิกวัตถุทั้งหลายออกไป เป็นการตัดขันธ์ห้า เจริญวิปัสสนาญาณโดยใช้กำลังแห่งอรูปสมาบัติ ขอบารมีพระพุทธองค์ยกจิตของข้าพเจ้าขึ้นไปบนพระนิพพาน ขอจงปรากฏสภาวะกายทิพย์ กำลังแห่งมโนมยิทธิเป็นกายพระวิสุทธิเทพปรากฏอยู่เบื้องหน้ามหาสมาคมบนพระนิพพานมีสมเด็จองค์ปฐม พระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ พระปัจเจกพุทธเจ้าทุกพระองค์ พระอรหันต์ทุกๆพระองค์ ครูบาอาจารย์ทั้งหลายปรากฏขึ้นบนพระนิพพาน
จากนั้นเรากำหนดจิตต่อไปให้เห็นภาพเรา รู้สึกได้ว่าเราคือกายพระวิสุทธิเทพ น้อมจิตกราบทุกท่านทุกๆพระองค์โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมเด็จองค์ปฐม พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน ทุกท่านที่ท่านเมตตาสงเคราะห์เรามา น้อมจิตกราบ
จากนั้นอธิษฐานจิตให้เห็นกายพระวิสุทธิเทพของเรานั่งขัดสมาธิอยู่บนรัตนะบัลลังก์ดอกบัวแก้วสว่าง เจริญพระกรรมฐาน โดยน้อมจิตอธิษฐานให้ปรากฏทุกท่านทุกๆพระองค์ห้อมล้อมรายรอบอาทิสมานกายของเรา น้อมกระแสพุทธญาณทัศนะ กระแสปัญญาในการพิจารณาธรรมของพระพุทธองค์ ขอน้อมเชื่อมโยงตรงลงมายังดวงจิตของเรา
จากนั้นเจริญวิปัสสนาญาณ ขอกระแสแห่งการเจริญวิปัสสนาญาณของพระพุทธเจ้า จะเป็นพระองค์ใดพระองค์หนึ่งก็ดี กระแสการเจริญวิปัสสนาญาณจนกระทั่งบรรลุเข้าถึงความเป็นพระอรหัตผลของพระอรหันต์ ครูบาอาจารย์พระองค์ใดพระองค์หนึ่งก็ดี ขอกระแสการพิจารณาทั้งหลายเหล่านั้น ขอจงน้อมหลั่งไหลลงมาสู่จิตอาทิสมานกายของข้าพเจ้า
ในเบื้องต้นอาจารย์จะช่วยน้อมนำในเบื้องต้นให้ก่อน จากนั้นให้เราพยายามเชื่อมกระแส กำหนดน้อมอธิษฐานให้กระแสการพิจารณาในวิปัสสนาญาณของท่านพระองค์ใดพระองค์หนึ่งที่ตรงจริตวิสัย ที่เราฟังแล้วเข้าใจลึกซึ้ง สามารถปลดเปลื้องพันธนาการแห่งสังโยชน์สิบ สรรพกิเลสคือความโลภโกรธหลงที่ร้อยรัดใจของเราตรงวาระจิต ขอให้กระแสธรรมนั้น กระแสการเจริญวิปัสสนาญาณนั้น จงปรากฏกระจ่างแจ้งกับจิตของเราแต่ละบุคคลเป็นปัจจัตตังด้วยเถิด
ในเบื้องต้นก็ให้เราพิจารณาตัดขันธ์ห้าร่างกาย พิจารณาให้เห็น รู้สึกในจิต ว่าในขณะที่เราทรงสภาวะความเป็นกายพระวิสุทธิเทพ อารมณ์ความรู้สึกที่เราห่วงใยในขันธ์ห้ายังมีเกาะเกี่ยวในจิตเราไหม หรือเรารู้สึกได้อย่างชัดเจน ว่าเราไม่ใช่ร่างกายเนื้อ ร่างกายเนื้อไม่ใช่เรา เราคือจิตอาทิสมานกายที่ตอนนี้เราตั้งกำลังใจในการปฏิบัติเพื่อพระนิพพานอยู่ พิจารณาต่อเนื่องให้เห็นจริงเพื่อให้ขาดเพื่อให้หลุดจากความเกาะเกี่ยวในขันธ์ห้า ในสภาวะที่เห็นขันธ์ห้านั้นเป็นอสุภสัญญาหรือสภาวะความไม่สวยงาม พิจารณาให้เห็นว่าเมื่อร่างกายเนื้อ จะเป็นร่างกายขันธ์ห้าของเรา หรือขันธ์ห้าของเพศตรงข้ามบุคคลอื่นบุคคลที่เรารัก ถึงเวลาที่ตายไปมีความเน่าเปื่อยผุพังไปทีละน้อย มีความบวช มีความบวม มีความอืด มีน้ำเหลืองน้ำหนอง มีความเน่าเฟะ ผิวพรรณที่สวยงามเต่งตึง รูปร่างหน้าตาที่ดูสวยสดงดงาม ก็มีสภาวะเป็นผีบวมอืด มีสภาวะมือกางตีนกางเขียวคล้ำ น้ำเหลืองน้ำหนองเปล่งจนปริแตกออก มีสภาวะความเน่าเหม็นเป็นอสุภ มีสภาพค่อยๆดำคล้ำขึ้น เขียวคล้ำดำจนในที่สุดก็มีหนอนชอนไช เป็นหนอนสีขาวกัดแทะกินเนื้อหนังและหนองที่เน่านั้น เราพิจารณาจนกระทั่งเห็นเป็นโครงกระดูกเกรอะกรังกับซากน้ำเหลืองน้ำหนองมีหนอนสีขาวไต่เต็มไปหมด
เราพิจารณาว่าต่อให้สวยงามหรือหล่อเหลาแค่ไหน ร่างกายขันธ์ห้าก็มีสภาวะเช่นนี้ กลับคืนสู่ ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ไปในที่สุด เราพิจารณาว่าจะเป็นร่างกายของเรา ร่างกายของบุคคลอื่น ก็เป็นเช่นนี้ เราหลงรัก หลงยึด หลงห่วง หลงเกิด หลงตาม หลงเป็นคู่กันมากี่ภพกี่ชาติ พิจารณาจนกระทั่งจิตเราเริ่มเห็นตามความเป็นจริง เห็นบุคคลใดก็ตามที่สวยสดงดงามก็เห็นเป็นโครงกระดูก เห็นบุคคลใดก็ตามที่พึงพอใจเราก็เห็นว่าในที่สุดเขาเหล่านั้นก็ต้องแก่ ก็ต้องเจ็บ ก็ต้องตาย พิจารณาช้าๆ โดยมุ่งหมายให้จิตเราคลายตัว รู้เท่าทันความเป็นไปในขันธ์ห้า ในความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ในความเป็นอสุภสัญญา ในความแปรปรวนของขันธ์ห้าทั้งหลาย จนจิตของเราว่าง วางจากความยึดมั่นถือมั่น ไม่ปรารถนาการมีกายเนื้อการมาเกิดเป็นมนุษย์อีกต่อไป
จิตกำหนดว่าการมีกายเนื้อเป็นชาติสุดท้ายของเรา
พ้นจากอันตภาคนี้พ้นจากชาตินี้ เราจะยกจิตพ้นจากวัฏสงสารเข้าสู่พระนิพพาน
จากนั้นกำหนดจิต ให้เราน้อมใจนึกถึงภาพพระพุทธเจ้า ครูบาอาจารย์ ซึ่งท่านจะเมตตามาโปรดในจิต จากนั้นน้อมจิตพิจารณาตาม ธรรมที่ผุดรู้ขึ้นในจิตนั้น ภาพที่เห็น ภาพที่ผุดพิจารณา เราพิจารณาตามเหตุตามปัจจัยของเราเป็นปัจจัตตัง เป็นของแต่ละบุคคล ขอให้กระแสธรรมที่ผุดรู้ขึ้นในจิตจงตรงกับใจของเรา ขุด ตัด ถอดถอนกิเลสออกจากจิตได้อย่างตรงใจ
กำหนดทรงสภาวะในความเป็นกายพระวิสุทธิเทพเจริญวิปัสสนาญาณอยู่บนพระนิพพาน
บางท่านพระพุทธองค์ก็มีการมาสอน บางท่านก็เป็นพระสารีบุตรเมตตามาสอน
บางท่านก็เป็นหลวงปู่มั่น บางท่านก็เป็นหลวงพ่อฤาษี เราก็น้อมจิตพิจารณาตามไป
ตอนนี้ให้น้อมใจเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล เงียบสงบอยู่กับการพิจารณาของเรา ตราบจนถึงเวลา
กระแสธรรมอันปราณีต กระแสธรรมอันสัปปายะ กระแสธรรมอันตรงกับวาระจิตเป็นปัจจัตตัง
ขอจงน้อมหลั่งไหลลงสู่จิตของข้าพเจ้าทั้งหลาย ถอดถอนสรรพกิเลสออกจากจิตของข้าพเจ้าทั้งหลายด้วยเทอญ
น้อมจิตเบาๆสบายๆ สัมผัสการผุดรู้ขึ้นในจิต
จากนั้น เรากำหนดพิจารณาในอารมณ์พระนิพพาน จำไว้เสมอว่า เมื่อใช้กำลังของมโนมยิทธิ ขึ้นมาบนพระนิพพาน ความรู้สึกว่ากายของเราเป็นกายพระวิสุทธิเทพอยู่บนพระนิพพาน และในขณะเดียวกัน เมื่อขึ้นมาแล้ว เราก็มีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาทบทวนในอารมณ์พระนิพพานเสมอ ไม่เช่นนั้นมันจะกลายเป็นเพียงแค่ภาพจำหรือสัญญาว่าเราจำภาพของพระวิสุทธิเทพ แต่อารมณ์จิตหรืออารมณ์พระกรรมฐาน อารมณ์พระนิพพาน อุปมานุสติ ยังไม่เข้าถึงจิตของเรา ดังนั้นเพื่อให้เป็นการยืนยันมั่นคงในการปฏิบัติ ยามที่รู้สึกสัมผัสได้ถึงความเป็นกายพระวิสุทธิเทพอยู่บนพระนิพพาน สัมผัสได้ถึงเครื่องประดับเครื่องทรงต่างๆ เป็นเครื่องหมายที่ทำให้เรารู้สึกว่า เราไม่ใช่กายเนื้อขันธ์ห้า แต่เราคือกายพระวิสุทธิเทพ1อันนี้เป็นจุดที่หนึ่ง จุดที่สองคือทบทวนอารมณ์จิตในการตัดสังโยชน์2 โดยอ้างอิงเชื่อมโยงถึงการตรวจสอบอารมณ์ ว่าเราเกาะ ห่วง หรือยังติดอยู่ในภพใดภูมิใดหรือไม่ ไม่ว่าจะความเป็นมนุษย์ก็ดี ไม่ว่าจะเป็นทิพยสมบัติแห่งการเสวยผลบุญในการเป็นเทวดาในชั้นต่างๆก็ดี ไม่ว่าจะพรหมสมบัติในการที่จะไปเสวยผลบุญในการเป็นพรหมก็ดี หรือแม้แต่อารมณ์ใจของเรา ที่จะต้องย้อนกลับมาพิจารณาว่า จิตเรามีความอาฆาตพยาบาทจองเวรไหม นั่นก็คือพรหมวิหารสี่เราเต็มไหม เราเป็นผู้ที่ปราศจากการเบียดเบียน เมื่อเป็นผู้ที่ปราศจากการเบียดเบียนครบถ้วน ศีลห้าก็ครบโดยอัตโนมัติ ความพยาบาทก็ไม่มีเป็นอัตโนมัติ การให้อภัยทาน คือการที่เราไม่ตามไปเกิด ไม่ตามไปจองเวร ไม่ตามไปเป็นเจ้ากรรมนายเวรของผู้ใดผู้หนึ่งก็เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ดังนั้นตัดภพตัดภูมิ พิจารณาในพรหมวิหารสี่เต็ม พิจารณาในความเป็นผู้ปราศจากความเบียดเบียน พิจารณาว่าเราให้อภัยทุกคนทุกสรรพสิ่ง จิตเราตั้งอยู่จุดเดียวโดยเฉพาะอย่างยิ่งเอกัตคตารมณ์อยู่กับพระนิพพานเป็นที่สุด จิตรักในพระนิพพาน มั่นคงในพระนิพพาน ตั้งมั่นอยู่เพียงพระนิพพานเป็นจุดเดียว ไม่มีภพอื่นภูมิใดที่ทำให้ใจเราปรารถนาที่จะไปเกาะเกี่ยว
เมื่อตรวจสอบอารมณ์ในการตัดสังโยชน์สิบ ตัดภพภูมิต่างๆเรียบร้อยแล้ว เราก็มาทรงอารมณ์อยู่ในการเสวยอารมณ์ที่เรียกว่าวิมุตติสุขอยู่บนพระนิพพาน พิจารณาในอารมณ์ที่ว่าเมื่อกิจทั้งหลายในพระพุทธศาสนาจบแล้วสำหรับเรา ภาระทั้งหลายหมดสิ้นแล้ว กรรมทั้งหลายไม่อาจส่งผลกับเรา ไม่มีภาระ ไม่มีห่วง ไม่มีความกังวล ไม่มีเครื่องผูกพันร้อยรัดใดๆ
จิตเราเป็นสุขอย่างยิ่ง พิจารณาให้เข้าถึงอารมณ์ที่ละเอียดเป็นสุขปราณีตสูงสุด คืออารมณ์ที่ “นิพพานัง ปรมัง สุขัง” พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง แยกความสุขที่ปรากฏขึ้นจากความสุขของฌานในอานาปานสติ หรือลมสบาย ลมสงบ อารมณ์ความเป็นทิพย์ความสุขจากฌานสมาบัติของกสิณที่เราเข้าถึงปฏิภาคนิมิต แยกแยะความละเอียดปราณีตที่สูงขึ้นมาอีกของอรูปสมาบัติ
พอเป็นอารมณ์ของพระนิพพาน ความสุขนั้นเกิดจากสภาวะที่สูงขึ้น คือสะอาดจากสรรพกิเลส จากสังโยชน์ จากเครื่องร้อยรัด จากภาระทั้งปวง หรือจากแรงกรรมทั้งหลายที่กลายเป็นโมฆะไปจนหมดสิ้น ยามที่เราฝึกหรือทรงอารมณ์ฌาน อารมณ์ที่เป็นสุขในขณะที่เราเข้าฌานนั้นมีอยู่ แต่ความรู้สึกลึกๆในจิต มันยังมีแรงกรรม ผลของกรรมที่เวลาที่เราออกจากฌานแล้วมันยังมีกำลังของกรรมที่มันมีส่งผล ไม่ว่าจะเป็นกรรมดีก็ดี กรรมชั่วก็ดี ยังต้องเวียนว่ายตายเกิด ผลกรรมมันยังไม่สลายตัว แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เรายกจิตตัดสรรพกิเลสเข้าถึงความเป็นอรหัตผล เข้าถึงพระนิพพาน กรรมทั้งหลายกลายเป็นโมฆะกรรมไปจนหมด ผลกรรมผลวิบากทั้งหลายหมดสิ้น ทั้งบุญและบาปปราศนาการไปจนหมด ทุกอย่างมันเบา มันว่าง มันโล่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงดึงดูดแห่งสังสารวัฏ สายโยงใยของกรรมที่ผูกโยงกับบุคคลทั้งหลาย ห่วงราหุลที่ผูกโยงกับบุคคลและกระแสกรรมทั้งหลาย มันขาดมันสิ้นไปจนหมด
ดังนั้นจิตในอารมณ์ของพระนิพพาน จะมีความละเอียดปราณีต มีความเบา มีความสุขอย่างยิ่ง สุดท้ายเมื่อเรายกจิตขึ้นมาบนพระนิพพาน จำเป็นที่ต้องทรงอารมณ์เสวยวิมุตติสุขในอารมณ์พระนิพพาน เพราะการเสวยวิมุตติสุขในอารมณ์พระนิพพานจะยิ่งทำให้เราเกิดธรรมฉันทะในพระนิพพาน ยิ่งยินดีในการปฏิบัติเพื่อพระนิพพานเป็นที่สุด เมื่อเราเข้าใจเหตุผลแห่งการปฏิบัติได้ครอบคลุมชัดเจนครบถ้วนทั้งหมด เราก็จะเข้าใจว่าทำไมถึงต้องปฏิบัติในแต่ละจุดแต่ละส่วน ดังนั้นตอนนี้ก็ให้เราทรงอารมณ์เสวยวิมุตติสุขในอารมณ์พระนิพพานเพื่อให้จิตมีความแนบมีธรรมฉันทะอยู่กับพระนิพพาน ไม่คลาดเคลื่อน ไม่ถอยไป ทรงอารมณ์ “นิพพานัง ปรมัง สุขัง” พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง
กำหนดพิจารณาว่าเราทรงอารมณ์อยู่ในอรหัตผล ทรงอารมณ์อยู่บนพระนิพพาน
ความเป็นทิพย์ของจิต ญาณเครื่องรู้ ปฏิสัมภิทาญาณ ขอจงผุดรู้ขึ้นในจิตของข้าพเจ้า
เข้าใจธรรมะทั้งหลายได้ชัดเจน ชัดแจ้ง กระจ่างในธรรมทั้งปวง
จากนั้นให้เราแยกอาทิสมานกายกราบทุกท่านทุกๆพระองค์บนพระนิพพาน น้อมจิตเชื่อมกระแสกับทุกท่านบนพระนิพพาน และอธิษฐานแผ่เมตตาเป็นกระแสบุญศักดิ์สิทธิ์จากพระนิพพานลงมายังสังสารวัฏทั้งหลาย
ขอจงเกิดกระแสมรรคผล กระแสผลแห่งบุญ กระแสแห่งสัมมาทิฐิ ขอจงหลั่งไหลลงสู่ภพแห่งอรูปพรหมทั้งปวง
พรหมโลกทั้งสิบหกชั้น สวรรค์ทั้งหก รุกขเทวดาภูมิเทวดาทั้งหลาย สรรพมนุษย์และสัตว์ที่มีกายเนื้อขันธ์ห้าทั่วโลกทั่วอนันตจักรวาลทุกภพทุกภูมิ
แผ่เมตตาต่อไป กระแสบุญจากพระนิพพานแผ่ต่อไปยังภพของโอปปาติกะสัมภเวสี สรรพสัตว์ทั้งหลาย เปรตอสุรกายทั้งหลาย สัตว์นรกทั้งหลาย ขอกระแสผลบุญ กระแสสัมมาทิฐิ กระแสมรรคผลพระนิพพาน กระแสเมตตาไม่มีประมาณ ขอจงเป็นกระแสแห่งบุญถึงทุกท่านทุกรูปทุกนาม
ท่านที่เป็นญาติทั้งหลายขอให้พ้นจากวิบากอกุศล น้อมบุญกุศลถึงทุกท่านที่เสวยความทุกข์เป็นเปรตก็ดี เป็นอสุรกายก็ดี หรือสัตว์นรกทั้งหลายก็ดี ในวาระช่วงเวลากาลอันสืบเนื่องกับวิสาขบูชาวันพระใหญ่ ขอน้อมกำลังบุญกรรมฐานส่งถึงญาติทั้งหลายที่อยู่ในวิสัยที่สามารถจะหลุดพ้น และโมทนาบุญกับกุศลแห่งการเจริญพระกรรมฐาน การถวายทาน การรักษาศีล การเจริญภาวนาของข้าพเจ้าทั้งหลายด้วยเถิด กำหนดจิต โปรดญาติทั้งหลาย พ่อแม่ในอดีตชาติ พ่อแม่ในปัจจุบัน ขอกระแสบุญ ขอพระยายมราชเป็นพยานน้อมไปถึงทุกท่าน ท่านที่เป็นสุขแล้วก็ขอให้เป็นสุขยิ่งขึ้นไป ท่านที่เป็นทุกข์ก็ขอให้พ้นจากความทุกข์ ท่านที่เป็นมิจฉาทิฐิก็ขอให้พ้นจากความเป็นมิจฉาทิฐิ เข้าสู่ความเป็นสัมมาทิฐิ รู้ผิดชอบชั่วดี รู้จักบุญ รู้จักกุศล รู้จักประโยชน์ รู้จักความสุข พ้นจากโมหะอวิชชาทั้งปวง
เมื่อแผ่เมตตาครบถ้วนแล้วก็กำหนดจิต กราบลาพระพุทธองค์ พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันต์ ครูบาอาจารย์บนพระนิพพานทุกพระองค์ แล้วก็น้อมจิตพุ่งอาทิสมานกายลงมายังกายเนื้อ น้อมจิตขอให้กระแสกุศลทั้งหลายจงมารวมตัวในชาติปัจจุบัน ขอบุญทั้งหลาย กุศลทั้งหลาย ส่งผลทันใจ ขอเปิดสายบุญสายทรัพย์สายสมบัติสายบารมีของเรา
เป็นแสงสว่าง เป็นกระแสแห่งบุญกุศลจากพระนิพพาน ฟอกชำระล้างธาตุขันธ์ห้าของเรา ชำระล้างโรคภัยไข้เจ็บทั้งหลายจากขันธ์ห้า ชำระล้างอวิชชาจากดวงจิต ชำระล้างวาจาให้มีแต่มธุรสวาจา วาจาอันเป็นสุภาษิต วาจาอันประกอบชอบด้วยธรรม วาจาอันประกอบเป็นสัจจะวาจาอธิษฐาน บอกกล่าวสิ่งใดเป็นไปตามปาก เป็นไปตามจิตนึก เป็นไปด้วยกุศลผลบุญ
ขอกระแสกุศลกระแสบุญความศักดิ์สิทธิ์จงสถิตรักษาทั่วกายทวาร มโนทวาร วจีทวารของข้าพเจ้าทั้งหลาย
จากนั้นตั้งจิตโมทนาสาธุกับเพื่อนกัลยาณมิตรที่ปฏิบัติธรรมและฟังในภายหลัง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งธรรมอาสาที่อาสาถอดไฟล์เสียง จัดรวบรวมธรรมทานทั้งหลาย
ขอให้บุญกุศลถึงทุกท่านทุกรูปทุกนาม โมทนาบุญซึ่งกันและกัน เกิดความรักสามัคคีทั้งในสายบุญเดียวกันก็ดี สายบุญอื่นที่อยู่ในเขตพระพุทธศาสนาก็ดี ขอให้เกิดความสามัคคีสมัครสมานปรองดอง พระพุทธศาสนาจะได้พึงเจริญรุ่งเรืองขึ้น น้อมจิตให้ผ่องใส
จากนั้นหายใจเข้าช้าๆลึกๆ ภาวนาเข้าพุธ ออกโธ ครั้งที่ 2 ธัมโม ครั้งที่ 3 สังโฆ
จากนั้นลืมตาขึ้นช้าๆด้วยจิตอันผ่องใส จิตมีความเอิบอิ่ม จิตมีความสุข จิตมีความชื่นบาน ปัญญาทั้งหลายปรากฏขึ้นในจิต วันนี้ก็ขอโมทนาบุญกับทุกคนนะครับ ก็ขอให้มีความเจริญก้าวหน้าในธรรม ตั้งใจขยัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงนี้เป็นช่วงเร่งรัดที่เบื้องบนท่านให้ปฏิบัติเพื่อพระนิพพาน เพื่อความเป็นพระอริยะเจ้ากัน
พยายามตั้งใจฝึกตั้งใจปฏิบัติ เดี๋ยวพบกันใหม่สัปดาห์หน้า
สัปดาห์หน้าก็จะเป็นวันอาทิตย์ซึ่งเป็นวันที่จะไปถวายสังฆทานที่บ้านสายลม ท่านใดที่สะดวกก็สามารถแจ้งและไปร่วมบุญด้วยกันได้นะครับ
สำหรับวันนี้ก็ขอโมทนากับทุกคน
สวัสดี
ถอดเสียงและเรียบเรียง โดย คุณ Be Vilawan